Header Ads

Breaking News

ประชุมออนไลน์ขยายผล พร้อมเสวนา การดำเนินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach)


โครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach) รูปแบบการเรียนรู้และช่วยเหลือนักเรียน ต่อยอดจาก Home Program



วันนี้ (29 มกราคม 2564) ณ ห้อง NR Digital Knowledge Centre โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ได้มีการประชุมขยายผล (ผ่าน ZOOM FACEBOOK LIVE และ ON SITE) พร้อมทั้งเสวนา 'การดำเนินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach)' โดยมี นายศรายุทธ ธิศรีชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตการศึกษาพื้นที่ สพม. 1 เป็นประธานในการประชุม ร่วมด้วย ดร.เจนการณ์ เพียงปราชญ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, อาจารย์วันทนา ชูช่วย อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, อาจารย์ธีรวี สำราญศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, อาจารย์ไพรัช ตันติศิริกุล คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, นายหัสดิน เจริญชาติ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง, ภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินรายการเสวนาภายใต้กรอบโควิด-19


ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นภาวะวิกฤตทางสุขภาพทำให้วัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 และปัญหาสุขภาพใจ นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพวัยรุ่น ทั้งในด้านการเรียนรู้ การเจริญเติบโตทางสมองและร่างกาย รวมถึงการฝึกฝนพัฒนาพฤติกรรมที่เตรียมความพร้อมเป็นวัยผู้ใหญ่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป โครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach) เป็นความร่วมมือระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สพม. 1 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส. โดยมีรายละเอียดที่มา เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนไทยในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น เป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เร่งการเสริมสร้างสุขภาพ คนไทยเชิงรุก ให้ความสาคัญกับการปฏิรูปและเสริมสร้างการดูแลเด็กและวัยรุ่นให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์ ดูแลผู้สูงอายุได้ สร้างความตระหนักต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดพฤติกรรมเสี่ยง มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาวะตนเอง ครอบครัว ชุมชน โดยส่งเสริมแนวทางการทางานร่วมกันแบบบูรณาการ


การจัดประชุมครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะนำเสนอแนวทางการดูแลวัยรุ่นไทยในช่วงสถานการณ์วิกฤตดังกล่าวในรูปแบบการดำเนินงานเชิงระบบโรงเรียนเพื่อทำให้เกิดสุขภาวะวัยรุ่น โดยจะมีการบรรยายในเรื่องทิศทางการศึกษาไทยกับโรงเรียนสุขภาวะและอภิปรายในรายละเอียด ผลการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบภายใต้กรอบการดำเนินงานโควิด 19 และจะนำเสนอโมเดลที่เกิดจากการดำเนินจริง มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนานักเรียน เช่น HOME PROGRAM และระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งโรงเรียนอื่น ๆ สามารถนำไปต่อยอดได้


อาจารย์วันทนา ชูช่วย อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ได้กล่าวถึงที่มาและจุดเริ่มต้นของ HOME PROGRAM ในช่วงเสวนาว่า "จากภาวะที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้หยุดการเรียนการสอน แต่การหยุดอยู่บ้านอาจทำให้นักเรียนมีสุขภาวะที่ไม่ดีอันเกิดจากการนั่งดูทีวีซีรี่ส์และการเล่นเกมออนไลน์ กอปรกับได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของโรงเรียนมัธยมวัดนายโรงทางไอซีที มี Google Class Room ให้เด็ก ๆได้ใช้เรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมและสถานการณ์ PM 2.5 จึงได้มีความคิดริเริ่มระบบ HOME PROGRAM ขึ้น โดย H มาจาก Healthy (สุขภาพแข็งแรง), O มาจาก Online (ออนไลน์), M มาจาก Self Management (การจัดการตนเอง) และ E มาจาก Education (การเรียนรู้) ระบบนี้เป็นการเรียนออนไลน์ที่ครูอาจารย์ที่ปรึกษาและเด็ก ๆ พบปะกัน ติดต่อสื่อสารกันเพื่อให้เกิดการ Active Learning อีกทั้งตัวผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมพบปะกันกับครูอาจารย์ หรือแม้กระทั่งตัวเด็ก ๆ เองยังพบปะกันผ่านระบบ HOME PROGRAM นี้อีกด้วย ทำให้การเรียนรู้ในการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด และทางโรงเรียนยังได้เสริมเพิ่มเติมเนื้อหาการเรียนรู้ที่อยู่นอกเหนือตำราเรียนอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้นักเรียนมีสุขภาวะที่ดีและก่อให้เกิดโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ (Healthy School : The Whole System Approach)"


ดร.เจนการณ์ เพียงปราชญ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ได้กล่าวถึงการสานต่อโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะว่า "สิ่งสำคัญคือผู้เรียนหรือวัยรุ่น ต้องต่อเนื่องในเรื่องการเรียนรู้ พร้อมทั้งปรับปรุง พัฒนาต่อยอด และท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาสุขภาวะทั้งระบบมีความจำเป็นที่จะต้องการความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ผู้ปกครอง ผู้บริหารครู ชุมชน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และทำให้เกิดการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานขององค์กรที่มุ่งผลลัพธ์ให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพทั้งกายใจ อารมณ์สังคม สติปัญญาที่ดี จึงต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและทุกคนต้องรวมพลังมุ่งเป้าหมายไปที่เดียวกัน คือการพัฒนาวัยรุ่นของเรานั่นเอง พลังของทุกฝ่ายจะช่วยให้เกิดการพัฒนาสร้างระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาวัยรุ่นแบบยั่งยืนต่อไป"




ไม่มีความคิดเห็น