Header Ads

Breaking News

กตป.จับมือ ว.นวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเวทีคุ้มครองผู้บริโภค โฆษณาแฝง ใครได้เสีย

กตป.จับมือ ว.นวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเวทีคุ้มครองผู้บริโภค โฆษณาแฝง ใครได้เสีย

กตป.จับมือ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ติดตามตรวจสอบการทำงาน กสทช. เตรียมวางกรอบแนวทางการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30 น. นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เรื่อง การกำกับดูแลการโฆษณาแอบแฝงในกิจการโทรทัศน์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  จัดขึ้นโดย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2566 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยกฤต อัศวธิตานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวรายงาน ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ

นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กล่าวว่า กสทช. มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะและระยะเวลาสูงสุดในการโฆษณาสำหรับการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการโฆษณา โดยการสอดแทรกผลิตภัณฑ์ หรือตราสินค้าและบริการเข้าไปในเป็นส่วนที่เป็นเนื้อหาของรายการ ทั้งที่เป็นเนื้อหาซึ่งผลิตขึ้นเองหรือจัดหาจากผู้ผลิตอื่น ซึ่งการปรากฏของผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้าในเนื้อหาของรายการนั้นถือว่าเป็นโฆษณาแฝง โดยโฆษณาแฝงจะไม่ถูกระบุอยู่ในผังรายการ ซึ่งผู้ประกอบกิจการส่งให้ กสทช. ตรวจสอบ ดังนั้น จึงทำให้ยากต่อการกำกับดูแลทั้งในเรื่องของความเหมาะสมของเนื้อหาและระยะเวลาโฆษณา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. จำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางและมาตรการในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ที่ปรึกษาจึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในวันที่ 18 ส.ค.66

“วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการรวบรวม สังเคราะห์ และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประเมินผลนโยบาย กสทช. ที่สำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในของการรวบรวมข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและผู้บริโภคเท่านั้น โดยที่ปรึกษายังมีการเก็บรวมรวมข้อมูลโดยวิธีการอื่นอีกด้วย เช่น การสัมภาษณ์เชิงลึกและสัมภาษณ์กลุ่มกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การสนทนากลุ่มย่อย (หรือ focus group) การแจกแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ และหลังจากการเก็บรวมรวมข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิแล้ว ที่ปรึกษาจะสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลโดยหลักวิชาการ เพื่อจัดทำเล่มรายงานประจำปีของกตป. เกี่ยวกับผลการประเมินการปฏิบัติงานของกสทช. เลขาธิการกสทช. และสำนักงานกสทช. ซึ่งตามพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้ กสทช. จะต้องนำเสนอรายงานประจำปีของ กตป. ต่อรัฐสภา และเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนรับทราบ






ไม่มีความคิดเห็น