ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 3/2565
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 3/2565
สถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อของชาติมหาอำนาจ และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
สร้างความกังวลสูงต่อผู้ประกอบการ
คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาไตรมาสแรกของปีหน้า
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน
เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น
จากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน
ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน
จำนวน 325 คน ระหว่างวันที่ 16 ถึง 24 มิถุนายน 2565 เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3
ของปี 2565 ได้ดังนี้
ในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน จากเหตุดังกล่าวจึงมีการสำรวจปัจจัยที่มีความกังวลที่เกิดมาจากสถานการณ์ในต่างประเทศ
พบว่าผู้ให้ข้อมูลความกังวลในสองลำดับแรกคือสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อของชาติมหาอำนาจ
และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ที่สร้างความกังวลกับผู้ให้ข้อมูลเป็นอย่างมาก
(เป็นจำนวนร้อยละ 76 และ 68 ตามลำดับ)
ในขณะที่ความกังวลในลำดับรองลงมาคือราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและความผันผวนของตลาดการเงิน
(เป็นจำนวนร้อยละ 38 และ 29 ตามลำดับ)
จากสถานการณ์โควิดในวันนี้พบว่าผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มีความกังวลอยู่บ้างแต่ใช้ชีวิตที่ผ่อนคลายมากขึ้น
(ร้อยละ 65) และอีกส่วนหนึ่งมีความกังวลพอควรและใช้ชีวิตระวังเช่นเดิม (ร้อยละ 20)
และมีผู้ให้ข้อมูลบางส่วนได้หมดความกังวลแล้ว (ร้อยละ 11)
สถานการณ์คลี่คลายความกังวลจากโควิดเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
จากการปรับตัวของราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่สอง
ผู้ให้ข้อมูล ได้แบ่งปันประสบการณ์ผลกระทบต่อต้นทุนทางธุรกิจ และพบว่าร้อยละ 50
ของผู้ให้ข้อมูลที่สำรวจมีต้นทุนการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 10 ถึง
20 ร้อยละ 31 ของผู้ให้ข้อมูลมีต้นทุนเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ
20 ถึง 40 และร้อยละ 12 ของผู้ให้ข้อมูลมีต้นทุนเพิ่มมากกว่าร้อยละ 40
จากประเด็นดังกล่าวจึงมีคำถามต่อเนื่องหากในสามเดือนหน้าราคาน้ำมันและวัตถุดิบยังคงเดิมเช่นวันนี้จะมีการปรับราคาสินค้าหรือไม่
พบว่าร้อยละ 51 ของผู้ให้ข้อมูลจะต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 25
ของผู้ให้ข้อมูลต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นให้เท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังที่ผ่านมา
และมีเพียงร้อยละ 14 ยังรอการปรับราคาได้
แนวโน้มดังกล่าวส่งสัญญาณว่าปัญหาทางด้านเงินเฟ้อคงยังไม่ชะลอตัวลง
เมื่อได้สอบถามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจีนกล่าวคือในระยะที่ผ่านมารัฐบาลจีนมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 60
คาดว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะต้องใช้เวลามากกว่าอีกหกเดือนจากวันนี้
ขณะที่ร้อยละ 34.5 คาดว่าต้องใช้เวลาระหว่างสามถึงหกเดือน จากนโยบายปลอดโควิดของจีนนั้นที่ทำให้เกิดการปิดบังเมืองชั่วคราว
ผู้ให้ข้อมูลให้ข้อคิดเห็นว่านโยบายดังกล่าว
มีผลต่อการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศจีน โดยที่ร้อยละ 48
ของผู้ให้ข้อมูลระบุว่ามีผลกระทบเป็นอย่างมาก และร้อยละ 31 มีผลกระทบพอประมาณ
จากสถานการณ์ภายในประเทศจีนต่อการเดินทางไปต่างประเทศ ร้อยละ 44
ของผู้ให้ข้อมูลคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเยือนประเทศไทยในไตรมาสแรกของปี
2566 ในขณะที่ร้อยละ 16
ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมายืนเมืองไทยก่อนสิ้นปี 2565
ส่วนผู้ให้ข้อมูลที่เหลือคาดว่าต้องรอจนหลังไตรมาสที่สองของปี 2566
ที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
ในเรื่องของการท่องเที่ยวอีกเช่นกันจากนโยบายผ่อนปรนจนกระทั่งไม่มีการตรวจโควิดกับนักท่องเที่ยวก่อนเข้าประเทศ
ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 55 คาดว่าต้องใช้เวลาระหว่างสามถึงหกเดือน การท่องเที่ยวจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่งอย่างเต็มที่
ขณะที่ร้อยละ 36.8 คาดว่าต้องใช้เวลามากกว่าอีกหกเดือน
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า
เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จากการสำรวจพบว่าร้อยละ
29 คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่ 3 จะดีขึ้น
เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ในขณะที่ร้อยละ 43 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะทรงๆ ส่วนร้อยละ
22 มีความเห็นว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตช้าลง
ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวได้สะท้อนถึงการคาดคะเนการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสที่
3 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบันกล่าวคือ ร้อยละ 54
คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้น และ ร้อยละ 27
ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน การคาดคะเนการนำเข้านั้น ร้อยละ 58
คาดว่าการนำเข้าจากจีนจะเพิ่มสูงขึ้น และร้อยละ 23 การนำเข้าจะทรงตัว
ส่วนผลของการสอบถามความคิดเห็น ด้านการลงทุนของจีนในไทย พบว่า ร้อยละ 56
ของผู้ให้ข้อมูลคิดว่าการลงทุนจากจีนในไทยในไตรมาสที่สามเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สองจะเพิ่มขึ้นในขณะที่ร้อยละ
28 ของผู้ให้ข้อมูลคาดว่าการลงทุนจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุปได้ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้างในอีกสามเดือนหน้า
และน่าจะมีผลที่ดีกับประเทศไทยในเรื่องการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ
การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ
การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน
สรุปได้ว่าร้อยละ 52 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 25 จะทรงๆ ขณะที่ร้อยละ 20
ไตรมาสที่ 3 จะชะลอตัวลงอีก
ทั้งนี้ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสหน้า คือ
ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ และธุรกิจออนไลน์
ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร และพลังงานและสาธารณูปโภค
การสอบถามเพิ่มเติมในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
พบว่าเป็นอุตสาหกรรมเป็นโอกาสของประเทศไทยที่สำคัญและจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หากได้รับการแก้ไขอุปสรรคอย่าวรวดเร็ว
การคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่
3 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 51
คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวลดลง ร้อยละ 22 คาดว่าคงเดิม ร้อยละ 23
คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสหน้านั้น
เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 57 คาดว่าเงินบาทจะมีค่าอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา
และอีกร้อยละ 17 คิดว่าถ้าเงินบาทจะอ่อนตัวลงเป็นอย่างมาก
กล่าวโดยสรุป ผลการสำรวจในครั้งนี้ สิ่งภาคเอกชนต้องติดตาม คือ สถานะการณ์ความขัดแย้งของมหาอำนาจที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย สถานะการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง มีผลทำให้การนำเข้าพลังงานมีต้นทุนสูงขึ้นมาก ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่จะได้ประโยชน์จากการที่บาทอ่อน ยังไม่สามารถหวังผลได้เต็มที่ จะกดดันให้เงินเฟ้อค่อยๆสูงขึ้น โดยภาคเอกชนก็ยังมีความกังวลใจกับการปรับราคาขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ
ไม่มีความคิดเห็น