Header Ads

Breaking News


ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัย...ช็อปปิ้งออนไลน์แอปฯดัง รับแจ้งความกว่า
60 ราย เสียหายกว่า 1 ล้าน ผูกบัญชีธนาคารกับแอปพลิเคชัน ถูกหักเงินชำระค่าสินค้าไม่ทราบสาเหตุ เร่งสอบสวนช่วยประชาชน

ทนายความเล็งผิด พ.ร.บ.คอม. หลอกลวงประชาชน เร่งคืนเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์ความคืบหน้า กรณีผู้เสียหายหลายรายผูกบัญชีธนาคาร หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ชำระค่าสินค้ากับแอปพลิเคชันซื้อขายของออนไลน์ ต่อมาพบว่าถูกหักเงินในบัญชีชำระค่าสินค้าโดยไม่ทราบสาเหตุ

จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.65 บช.สอท. ได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยเกี่ยวกับการผูกบัญชีธนาคาร หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ชำระค่าสินค้าออนไลน์นั้น ปัจจุบันพบว่าได้มีผู้เสียหายกว่า 60 ราย ความเสียหายรวมกว่า 1 ล้านบาท โดยผู้เสียหายได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนยังสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุทั่วประเทศ และแจ้งผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline.com เพื่อให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะนี้ทางคดียังอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความเชื่อมโยงต่างๆ รวมถึงประสานงานไปยังบริษัทแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง และเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรม ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการที่ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เข้าไปกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่า Shopee ได้ประกาศปิดช่องทางการชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารเพื่อตรวจสอบและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ และการซื้อขายของออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมสร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โฆษก บช.สอท. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีแนวทางป้องกัน ดังต่อไปนี้

1. หลีกเลี่ยงการให้หักเงินในบัญชีธนาคารอัตโนมัติ ใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง หรือชำระสินค้าผ่าน QR code แทน

2. บัญชีธนาคารที่ผูก หรือเชื่อมไว้กับแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์ ควรมีจำนวนเงินในบัญชีไม่มาก

3. หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ที่แหล่งมา ควรดาวน์โหลดใน AppStore หรือ Playstore เท่านั้น

4. ที่สำคัญระมัดระวังการกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันจริง เพื่อหลอกเอาข้อมูล โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเองเท่านั้น

5. ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการบัญชีธนาคารผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือแอปพลิเคชันไลน์ (Line)

6. หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์ ที่ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร (CVV)

7. ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV) หรือจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตรเพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน
8. หากพบสิ่งผิดปกติของบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ให้ทำการแจ้งไปยังธนาคาร เพื่อทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์

ทั้งนี้ หากท่านได้รับความเสียหาย ให้ทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งความกับพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนกฎหมาย หรือพบเบาะแสการกระทำผิด ข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) 


ไม่มีความคิดเห็น